ทำความรู้จักโรควิตกกังวลคืออะไร เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

0
3

หลายคนคงเคยได้ยินโรควิตกกังวลเกินเหตุ ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้มากๆ ซึ่งผู้ป่วยบางคนยังไม่รู้ตัวด้วยว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ จริงๆแล้วโรควิตกกังวลคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไรและมีแบบไหนบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้

โรควิตกกังวลคืออะไร? 

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความวิตกกังวลสูงในหลายๆ สถานการณ์ ควบคุมตัวเองได้ยาก และไม่สามารถจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ความวิตกกังวลกลายเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นนานกว่า 6 เดือน และเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันใน และที่รุนแรงที่สุดคืออาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าและคิดสั้นจนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ 

สาเหตุเกิดจาก 2 ปัจจัยดังนี้ 

1.พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมาและการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล 

2.สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล 

โรควิตกกังวลแบ่งออกได้ 5 ประเภทหลัก  

1.โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , GAD ) คือ การมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วๆไปมากเกินไป ระแวงตลอดเวลา ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ใจเต้นเร็ว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้  

2.โรคแพนิก (Panic Disorder, PD )หรือโรคตื่นตระหนก คืออยู่ดีๆเกิดอาการกลัวและวิตกกังวลขึ้นมาเป็นพักๆโดยไม่มีสาเหตุหรือมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก เวียนหัว คลื่นไส้ หนาวสั่น มือเท้าชา กลัวว่าตัวเองจะตาย ผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองกำลังหัวใจวายหรือเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต 

3.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias) หรือที่เรามักเรียกว่าโฟเบียคือ การกลัวมากเกินไปเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างหรือกิจกรรมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวสุนัข กลัวที่แคบ กลัวขึ้นเครื่องบิน กลัวพูดผ่านไมโครโฟน 

4.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) คือ ความคิดวิตกกังวลที่มีการคิดซ้ำๆและมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูก็จะคอยตรวจซ้ำๆว่าล็อคประตูหรือยัง

5.โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย เห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น มักคิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ และหวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 

ทุกคนมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่หากรู้สึกว่าอาการรุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น ควบคุมไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่นำไปสู่โรควิตกกังวล ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น

Previous article3 อาหารประเภทที่เน่าเสียง่ายในหน้าร้อน