การเชื่อมแก๊สหรือการใช้ความร้อนจากการเผาไหม้ของแก๊สอะเซทิลีน (AC) และแก๊สออกซิเจน เพื่อหลอมละลายให้โลหะสามารถเชื่อมติดกันได้นั้นเป็นงานช่างที่ต้องใช้ทั้งความชำนาญและความระมัดระวังค่อนข้างสูง เพราะหากมีข้อผิดพลาด ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของตัวผู้ใช้งานได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
วันนี้เราจึงได้เรียบเรียงบทความว่าด้วย 4 ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการใช้งานชุดเชื่อมแก๊สขึ้นมา ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะเป็นยังไง ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปดูกันได้เลย
เตรียมอุปกรณ์ทุกชิ้นให้พร้อมก่อนเริ่มงาน
อุปกรณ์สำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยในการเชื่อมแก๊สแต่ละครั้งมีทั้งหมด 5 ชิ้นด้วยกัน ประกอบไปด้วย ถังแก๊ส (อะเซทิลีนหรืออกซิเจน), มาตรวัดความดัน (เกจ), มาตรวัดแก๊ส, สายลำเลียงแก๊ส และชุดเชื่อมแก๊สซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักประกอบไปด้วยหัวผสมแก๊ส (ทอร์ช) และหัวเชื่อม (หัวทิพ) โดยบรรดาอุปกรณ์ทั้งหมดที่ได้พูดถึงไป มาตรวัดความดันและมาตรวัดแก๊สนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความปลอดภัยในระหว่างใช้งาน เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมแรงดันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เช็กความพร้อมของอุปกรณ์ทุกชิ้นให้ดี
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ทุกชิ้นครบแล้ว ลำดับต่อมาเราอยากจะแนะนำให้ทุกคนตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์แต่ละชิ้นให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ไฟย้อนกลับที่อาจลุกลามกลายเป็นเหตุเพลิงไหม้ได้ โดยอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ช่างทั้งมือใหม่และมือโปรควรตรวจสอบก็คือสายลำเลียงที่จะต้องไม่มีร่องรอยชำรุดหรือเสียหาย และชุดเชี่อมแก๊สโดยเฉพาะหัวผสมหรือทอร์ชที่จะต้องไม่มีการอุดตันภายในเพื่อให้แก๊สไหลเวียนได้สะดวก
ประกอบอุปกรณ์แต่ละชิ้นให้ถูกต้อง
นอกจากความเสียหายของอุปกรณ์แล้ว การประกอบอุปกรณ์แต่ละชิ้นผิดวิธีก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปราฏการณ์ไฟย้อนกลับเช่นกัน โดยชิ้นส่วนที่คนส่วนใหญ่มักประกอบไม่ถูกต้องได้แก่ชุดเชื่อมแก๊สโดยเฉพาะส่วนหัวผสมหรือทอร์ช สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มฝึกเชื่อมแก๊สเป็นครั้งแรก ทางที่ดีควรจะศึกษาขั้นตอนการประกอบอุปกรณ์แต่ละชิ้นให้ดีเพื่อเพิ่มความมั่นใจและลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุไม่คาดฝันในระหว่างปฏิบัติงาน
ปฏิบัติตามขั้นตอนการเชื่อมแก๊สอย่างเคร่งครัด
หลังจากทำตามทุกขั้นตอนจนเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาที่เราจะได้เริ่มใช้งานชุดเชื่อมแก๊สกัน ซึ่งในระหว่างนี้เราควรปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่างอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นการปรับความดันให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัย, การสวมชุดป้องกันให้มิดชิด รวมไปถึงการระบายแก๊สออกจากสายให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟย้อนกลับเมื่อต้องกลับมาทำงานเชื่อมแก๊สใหม่อีกรอบ
เป็นยังไงกันบ้างกับ 4 ขั้นตอนการใช้งานชุดเชื่อมแก๊สให้ปลอดภัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกรายละเอียดที่ได้นำเสนอไปคงจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะ