โรคไมเกรน โรคปวดศีรษะที่พบบ่อย เกิดจากสาเหตุใด?

0
1120

โรคไมเกรน เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานผิดปกติของก้านสมองหรือเกิดจากภาวะที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษ คือมีการหดตัวและขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติ

โรคไมเกรน

ทางระบาดวิทยาเชื่อว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่จะแสดงอาการหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มากระทบ ผู้ป่วยโรคไมเกรนมักจะมีอายุไม่มาก อยู่ระหว่าง 25-45 ปี และผู้หญิงมักมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชายเนื่องจากปัจจัยทางฮอร์โมน

อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้น มักจะปวดบริเวณขมับโดยอาจปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ บางรายอาจปวดวนกันไปข้างซ้ายบ้างข้างขวาบ้าง และมักปวดข้างเดิมอยู่เสมอๆ อาจมีอาการปวดบริเวณเบ้าตา ปวดแบบตุ้บๆ การจังหวะการเต้นของชีพจร ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย การปวดศีรษะอาจยาวนานถึง 72 ชั่วโมง

สิ่งที่มากระตุ้นอาการปวดไมเกรนมีหลายอย่าง จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล มีดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน เช่น ในช่วงมีประจำเดือน ช่วงหมดประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์
  • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ไวน์ ผงชูรส ชา กาแฟ ช็อคโกแล็ต ชีสและการรับประทานอาหารไม่ ตรงเวลา
  • การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
  • การนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่เพียงพอ หรือนอนมากเกินไป
  • สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง อากาศร้อน/เย็น ฝุ่น ควัน
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
  • ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดอยู่ตลอดเวลาจะมีโอกาสปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด
  • ความหิว เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดไมเกรน โกรธ ซึมเศร้า และวิตกกังวล ได้พอๆกัน

สำหรับการรักษาโรคไมเกรนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ เพื่อลดความทุกข์ทรมานจากการปวด โดยปกติหากผู้ป่วยมีอาการปวด 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ปวดทุกวัน ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยไมเกรนส่วนมาก แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดซึ่งสำหรับการรักษาไมเกรนแบบปวดเฉียบพลัน เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยากลุ่มเออร์เกต และยากลุ่มทริปเทน ในกรณีที่ปวดศีรษะมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง แพทย์จะจ่ายยารักษาไมเกรนแบบป้องกัน เข่น ยาสกัดเบต้า ยาต้านซีโณโตนิน ยากันชัก ยาแคลเซียมแอนทาโกนิส เป็นต้น ซึ่งต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายไม่อยากทานยานานๆ ก็จะปฏิเสธที่จะรับยาแต่ยอมทนกับอาการปวดศีรษะแทน นอกจากนี้การบรรเทาอาการปวดศีรษะด้วยวิธีนวด กดจุด ประคบเย็น-ร้อน หรือการนอนหลับพักผ่อนได้เช่นกัน

การดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการปวด ควรปฏิบัติดังนี้

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการเกิดไมเกรน ซึ่งอาจจะแตกต่างกับคนอื่นๆ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตวาอะไรกระตุ้นให้โรคกำเริบ

2. การพักผ่อนให้เพียงพอ นอนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และพยายามเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา

3. ถ้ามีอาการการของโรคไมเกรน ความพักผ่อนในห้องเงียบๆ มืดๆ น้ำผ้าเย็นมาประคบที่บริเวณต้นคอพร้อมกับนวดบริเวณที่ปวด

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อครั้ง จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง คลายความเครียดได้

5. ควรจดบันทึกรายละเอียดของความปวด วัน เวลา ระยะเวลาที่ปวด ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน พฤติกรรมที่ทำแล้วปวดศีรษะ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับตนเองในการปรับ ป้องกัน และเตรียมพร้อมกับการกำเริบของโรคได้

โรคไมเกรน ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่มักสร้างความรำคาญและสร้างปัญหาให้กับการดำรงชีวิต หากปวดศีรษะมากๆ ก็จะไม่สามารถไปทำงาน เรียนหนังสือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีก็จะช่วยลดความรุนแรงหรือระยะห่างของความปวดได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ แล้วทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดจนเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการป้องกันตนเองให้ห่างไกลได้ทุกโรคเลยนะคะ

ข้อมูลอ้างอิง

อยู่อย่างไรเมื่อเป็นไมเกรน : bumrungrad.com
ไมเกรน (pdf) : nanosweb.org
อาการและอาการแสดงของ ไมเกรน : med.cmu.ac.th
Migraine” ปวด ไมเกรน ที่สุดของอาการปวดศีรษะ : tlcthai.com

Previous articleการเลือกซื้ออาหารเสริม วิธีเลือกซื้ออย่างชาญฉลาด
Next articleโรคไข้หวัดใหญ่ รู้จัก สาเหตุ การรักษา และป้องกัน