เราสามารถสังเกตตัวเราว่าสุขภาพลำไส้มีปัญหาหรือไม่ หรือปกติดี ด้วยการสังเกตจากสีของอุจจาระและลักษณะของอุจจาระ เพราะสีและลักษณะสามารถบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังป่วยและควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาทันที
อุจจาระบอกโรค
สีและลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเพราะลำไส้มีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมและภาวะของโรคร้ายได้ การสังเกตอุจจาระของตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็นหากพบสีของอุจจาระดังต่อไปนี้ อาจเกิดความผิดปกติในลำไส้ของคุณ
1.สีน้ำตาลและเหลือง
คือ สีอุจจาระของคนสุขภาพดี การทำงานของระบบย่อยและทางเดินอาหารเป็นปกติ อุจจาระ ที่สีค่อนไปทางน้ำตาลอาจเกิดจากน้ำดีในตับที่ทำหน้าที่ระหว่างการย่อยอาหาร แต่ถ้าอุจจาระเป็นสีเหลืองจางๆ มีความมันและกลิ่นเหม็น อาจเกิดจากไขมันส่วนเกินที่อยู่ในอุจจาระ ซึ่งบ่งบอกว่าน้ำดีมีปัญหา หรือเป็นสัญญาณของความผิดปกติในระบบย่อยหรือระบบดูดซึมอาหารของลำไส้ หากเป็นติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
2.อุจจาระสีเขียว
เกิดจากการรับประทานผักใบเขียวปริมาณมากจนทำให้อุจจาระเป็นสีเขียว แต่หากอุจจาระเหลวร่วมด้วย อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคท้องร่วง หรือเกิดจากการทานยาบางชนิด
3.อุจจาระสีดำ
เกิดจากมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หากมีสีดำเข้มเหมือนยางมะตอย ควรต้องรีบไปพบแพทย์ และหากอุจจาระเป็นสีดำบ่อยๆ โดยไม่ทำการรักษาอาจจะเสี่ยงต่อการเป็นกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ในบางกรณี สีดำของอุจจาระอาจเกิดจากการทานอาหารหรือยาบางชนิด เช่น ตับหรือเลือด ข้าวเหนียวดำ ลูกหม่อน ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก หรือยาแก้ท้องเสียบางชนิดก็เป็นได้
4.อุจจาระสีแดง
ส่วนใหญ่เกิดจากอาหาร เช่น บีทรูท กระเจี๊ยบ มะละกอ แตงโม หรือเครื่องดื่มสีแดง แต่หากอุจจาระมีเลือดปน มักเกิดจากโรโรคริดสีดวงทวาร หรือการมีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง เช่น ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ หรืออาจมีเนื้องอก
5.สีเทา
อาจเกิดจากมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หรือรับประทานธาตุเหล็กบำรุงเลือด แต่หากเป็นสีเทาคล้ายขี้เถ้าแสดงถึงตับหรือตับอ่อนมีปัญหา สีเทาจางเกือบขาว อาจเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีให้อุจจาระขาดน้ำดี หรือมีปัญหาที่ตับอ่อน หรือเกิดจากการทานยาบางชนิด
อย่างไรก็ตามสีอุจจาระอาจเกิดจากอาหารที่รับประทานควรหยุดรับประทานอาหารนั้น แล้วสังเกตสีของอุจจาระภายใน 2-3 วัน หากยังคงผิดปกติอยู่ควรรีบพบแพทย์ทันที รวมถึงอุจจาระที่มีลักษณะต่างไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย และหากมีอาหารเหนื่อยล้า ปวดท้อง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังป่วย