โรครูมาตอยด์ การอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ

0
1165

โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อร่วมกับการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย การอักเสบนี้จะทำลายกระดูกอ่อน กระดูกรอบข้อ เนื้อเยื้อรอบข้อ เช่น ถุงน้ำ เส้นเอ็น บริเวณข้อเปลี่ยนเป็นสีแดง บวม ปวด นิ่ม มีไข้ อ่อนเพลี ซีด เยื้อหุ้มหัวใจและปอดอักเสบ พบว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วอายุ แต่ส่วนใหญ่มักพบในวัยกลางคนและในเพศหญิงมากกว่าเพศชายคะ

โรครูมาตอยด์
ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน แต่พบว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดและพันธุกรรม ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นด้วยการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อต่างๆในร่างกาย มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า หลังจากนั้นจะมีอาการบวม ร้อน และปวดมากขึ้น บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด และมีปุ่มขึ้นตามข้อได้

เนื่องจาก อาการของโรครูมาตอยด์คล้ายคลึงกับโรคข้ออักเสบหลายชนิด จึงเป็นยากที่จะระบุว่าเป็นโรคนี้ในระยะแรกที่แสดงอาการ แพทย์จำเป็นต้องนำผลไปตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อแยกโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันออกเสียก่อน นอกจากนี้โรครูมาตอยด์สามารถตรวจได้จากเลือดของผู้ป่วย จะพบสารรูมาตอยด์ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่สารชนิดนี้ก็สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบอื่นๆ โรคติดเชื้อบางอย่าง หรือในคนปกติด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ แต่จะนำผลมาเป็นตัววินิจฉัยร่วมกับอาการอื่นๆ

ยาสำหรับการรักษาโรครูมาตอยด์มีหลายชนิด และผู้ป่วยเองก็จะตอบสนองกับยาแตกต่างกันไป สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการรุนแรงอาจได้รับยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาจมีผลต่อระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้บ้าง ในรายที่มีอาการรุนแรงข้อถูกทำลายมากๆ หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยโรคอื่นๆอยู่แล้ว เช่น ไตเสื่อม ตับแข็ง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่มีฤทธิ์ระงับการลุกลามของโรคที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ แต่เมื่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วก็จะปรับลดขนาดของยาให้ต่ำหรือหยุดยา เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยาในระยะเวลานานๆ

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การพักผ่อนที่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่อ่อนเพลีย แต่ไม่ควรนอนนานเกินทำให้ข้อฝืดขัด การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอช่วยให้ผู้ป่วยข้อไม่ติดขัดได้ ผู้ป่วยเองควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรครูมาตอยด์จะได้เข้ากับโรคที่เป็นอยู่ การหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจทำให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น เช่น การนั่งพับเข่า การบิดข้อมือ ผู้ป่วยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เช่น ไม้เท้า เพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อและทำให้เคลื่อนไหวตัวได้ง่ายขึ้น

การกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพข้อเป็นเรื่องที่จำเป็น เน้นให้ข้อมีการเคลื่อนไหว เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและเพิ่มความอดทนของร่างกาย ท่าบริหารสำหรับผู้ป่วยในการบริหารนิ้วมือด้วยท่าเทพพนม โดยพยายามพนมมือให้สวย เหยียดนิ้วให้ตรง ข้อมือให้ตั้งฉาก และยันฝ่ามือทั้งสองข้างเข้าหากัน ค้างไว้สัก 10 วินาทีต่อครั้ง ทำสัก 10 รอบในตอนเช้า และท่าบริหารเท้า โดยให้นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง แล้วเหยียดขาออกให้ตรงทีละข้าง ขนานกับพื้น พร้อมกับกระดกปลายเท้าขึ้นตั้งฉาก ยกลอยค้างไว้ 10 วินาที ค่อยเอาลง ทำซ้ำสัก 10-20 เซ็ตต่อวันคะ

อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นโรคข้ออักเสบเรื้องรัง ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรค เพราะมีอาการโรคข้ออักเสบอื่นที่คล้ายคลึงกับโรครูมาตอยด์ แต่การรักษาก็จะแตกต่างกันไป หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและรวดเร็ว อาจทำให้ข้อผิดรูป ทุพพลภาพ และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

Previous articleรู้จักยาแก้ภูมิแพ้ ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines)
Next articleสมุนไพรรักษาความดันโลหิตสูง กินเป็นยา ลดความดัน