ปัจจุบันเด็กไทยมี “ภาวะออทิสติกเทียม” มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักๆเกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่ควร ทำให้มีอาการคล้ายกับโรคออทิสติก แต่เป็นภาวะออทิสติกเทียม
ออทิสติกเทียม หรือ พฤติกรรมคล้ายออทิสติกคืออะไร?
เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น แต่ให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม
ลักษณะอาการออทิสติกเทียมมีอะไรบ้าง ?
1.เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใคร
2.พูดเป็นภาษาต่างดาว พูดซ้ำๆ พูดเลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย การเล่นไม่สมวัย
3.พฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ไม่ยืดหยุ่น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น
4.เรียกหันบ้างไม่หันบ้าง มองหน้าสบตาได้แต่ไม่นาน สนใจจอต่างๆมากกว่าบุคคล
5.พูดซ้ำ พูดตาม พูดเหมือนทำนองเพลง ท่องเนื้อเพลง ตัวอักษรต่างๆได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย
6.เล่นของเล่นในรูปแบบเดิมๆ ชอบเล่นคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน
วิธีเลี้ยงลูกให้ห่างไกลภาวะออทิสติกเทียม
วิธีการเลี้ยงลูกไม่ให้มีภาวะออทิสติกเทียม สามารถทำได้ ดังนี้
1.การพูดคุยกับลูก
สำหรับเด็กเล็กต้องพูดช้า ๆ ชัด ๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การออกเสียงและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู อย่างน้อยควรคุยกับเด็กวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการสื่อสาร โต้ตอบระหว่างกัน และให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร ตลอดจนเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่–เด็ก, ครู–นักเรียน, เพื่อน–เพื่อน และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเด็กด้วยกันเองบ้าง
2.ไม่ให้ลูกเล่นสมาร์ทโฟน
ในเด็กหลัง 1.5 ขวบ หากให้เล่นต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยหลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเพียงลำพัง ขณะเดียวกันต้องมอบความรักความอบอุ่น รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้วยการเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการสมองและร่างกาย เช่น การต่อบล็อก ร้อยเชือก ระบายสี ปั่นแป้ง เตะบอล ขี่จักรยาน เป็นต้น
3.สอนให้ลูกช่วยเหลือตนเอง
พ่อแม่บางคนทำให้ลูกแทบทุกอย่าง ไม่ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้หรือทดลองทำด้วยตนเอง ไม่มีการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเอง ไม่ปล่อยให้ทำอะไรหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง มักมีคำพูดติดปาก เช่น “ห้ามแตะนะ” “เดี๋ยวแม่ทำให้” ทำให้เด็กขาดการกระตุ้นด้านพัฒนาการที่เหมาะสม
ภาวะออทิสติกเทียมนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับตัวเด็ก จึงส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า แต่หากเรารู้ไวภาวะนี้สามารถรักษาหายกลับมาเป็นเด็กปกติได้